คลังความรู้

แนะผู้ใช้รถพกอุปกรณ์ฉุกเฉินติดรถ เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

26 กันยายน 2556

อุปกรณ์ฉุกเฉินประจำรถเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีรถเสียในระหว่างการเดินทาง แต่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่มักมองข้ามและไม่เห็นความสำคัญ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

แผนกความปลอดภัย ขอแนะเจ้าของรถให้จัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นไว้ประจำรถสำหรับใช้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ดังนี้

แม่แรง ประแจขันล้อ และยางอะไหล่

ใช้สำหรับเปลี่ยนยางรถยนต์ กรณียางแตก ยางระเบิด ซึ่งเจ้าของรถควรศึกษาวิธีใช้งานในเบื้องต้นและตำแหน่งที่จัดเก็บ พร้อมตรวจสอบยางอะไหล่ให้มีลมยางในระดับที่เหมาะสมและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

สายพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์

ควรมีติดไว้ในรถตลอดการเดินทางแม้แบตเตอรี่รถจะใช้งานได้ตามปกติก็ตาม เพราะในระหว่างการเดินทาง หากเกิดปัญหาแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ก็สามารถนำมาใช้งานได้ด้วยการต่อพ่วงขั้วแบตเตอรี่กับรถคันอื่น โดยต่อขั้วบวกกับขั้วบวกและขั้วลบกับขั้วลบ

ถังดับเพลิงขนาดเล็ก

ใช้สำหรับดับเพลิงกรณีเกิดเพลิงไหม้รถจากสาเหตุต่างๆ เช่น สายไฟช็อต น้ำมันรั่วไหล เหมาะสำหรับใช้งานกรณีเกิดเปลวไฟขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มก่อตัว แต่หากไฟลุกลามรุนแรง ให้รีบออกห่างจากรถโดยเร็วที่สุด ในการติดตั้งถังดับเพลิงภายในรถให้วางไว้ในตำแหน่งที่หยิบใช้งานสะดวก ไม่วางไว้ใต้เบาะนั่งคนขับโดยไม่มีที่ยึดติดเพราะอาจกลิ้งไปติดแป้นเบรกและคันเร่ง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

ไฟเตือนระวังหลัง สามเหลี่ยมสะท้อนแสง

ใช้สำหรับกรณีรถยนต์ขัดข้อง และต้องจอดรถริมข้างทางโดยเฉพาะช่วงกลางคืน ในการใช้งานให้วางไว้ในตำแหน่งที่ผู้ใช้เส้นทางรายอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไกล จะได้เพิ่มความระมัดระวังและเปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน

ชุดอุปกรณ์ลาก พ่วง จูง

เช่น เชือก ลวดสลิง เป็นต้น ใช้สำหรับลากจูงกรณีรถเสียหรือประสบอุบัติเหตุ โดยให้ผูกไว้กับส่วนที่แข็งแรงที่สุดของโครงสร้างรถ

ที่สำคัญ ก่อนออกเดินทาง นอกจากผู้ขับขี่ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินประจำรถให้ครบถ้วนและตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานแล้ว ควรนำไฟฉายและชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน และควรศึกษาวิธีใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินแต่ละชนิด เพื่อสามารถใช้งานได้ทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษา

ผมขับรถไปรับลูกที่ ร.ร ระหว่างทางจอดแวะให้ลูกชายลงไปซื้อของ โดยตัวเองและได้ทางจอดโดยยังไม่ได้ดับเครื่อง ได้สังเกตุเห็นลูกไฟตกลงมาจากใต้ห้องเครื่อง จึงรีบตะโกนบอกแม่ให้รู้ว่ามีไฟใหม้ใต้ท้องรถ หลังจากนั้นแป๊บเดียวไฟก็เริ่มลุกติดลามไปอย่างรวดเร็ว แฟนก็รีบดับเครื่องและคว้าตัวลูกสาวออกมาจากตัวรถ โชคร้ายที่ที่ในรถไม่มีถังดับเพลิงอยู่เลยไม่มีอะไรมาช่วยดับไฟได้เลยทั้งที่ไฟยังลุกเป็นบริเวณเล็กๆ กว่าจะหาถังดับเพลิงได้ก็ผ่านไปเกือบ 10 นาทีแล้ว ไฟก็เลยลุกลามไปทั่ว ถังดับเพลิงที่หามาได้ก็ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้วเพระไฟลามไปมากแล้ว เลยต้องมองรถตัวเองค่อยๆถูกไฟไหม้ไปเรื่อยๆๆ มันน่าเศร้ามากๆ แถมในรถยังมีเงินสดอีกหลายหมื่นที่เพิ่งเบิกออกมา วอดวายไปพร้อมๆๆกันด้วย กว่ารถดับเพลิงจะมาถึงไฟก็เผารถไปครึ่งคันแล้ว

สิ่งที่ห่วงไปมากกว่านั้นก็คือรถผมติดแก๊สด้วย ไม่รู้มันจะระเบิดตอนไหนเพราะไฟมันแรงจริงๆ แต่ก็ยังโชคดีอยู่บ้างที่ ระบบแก๊สที่ติดตั้งมาอย่างถูกต้องสามารถตัดแก๊สที่กำลังใช้งานอยู่ได้ทันที ทำให้ไม่มีโศกนาฎกรรมเกิดขึ้นมากกว่านั้น ไม่เช่นนั้นบ้านที่อยู่ข้างๆ คงต้องมอดไปด้วยแน่ๆ

งานนี้ทำให้เกิดบทเรียนหลายๆๆอย่าง ที่อยากฝากไว้กับเจ้าของรถทุกๆ คัน ที่จะติดหรือไม่ติดแก๊สก็ตาม ดังนี้

  1. อุบัติเหตุมันเกิดขึ้นกับใครก็ได้โดยไม่เลือกเวลา การเตรียมพร้อม และมีสติ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
  2. ถ้าคิดจะติดแก๊สก็ควรเตรียมพร้อมให้มากกว่าปกติ ทั้งการตรวจเช็คเครื่องเป็นประจำ และ การเตรียมถังดับเพลิงขนาดเล็กไว้ในรถ มันอาจจะมีค่าอย่างมากในยามที่เกิดปัญหา อย่าไปเสียดายเงินไม่กี่บาท และมองว่ามี % น้อยมากที่รถแต่ละคันจะเกิดไฟใหม้
  3. ประกันชั้น 1 ถ้าทำได้ก็ให้ทำซะอย่าไปเสียดาย เวลาเกิดเหตุมาแล้วจะเห็นว่าเงินที่เราจ่ายค่าประกันไปมันคุ้มค่า
  4. สำคัญที่สุด สำหรับรถที่ติดตั้งแก๊ส ควรเลือกอู่ที่มาตรฐานในการติดตั้งที่ดี ให้แน่ใจว่าระบบต่างๆ ติดตั้งอย่างถูกต้อง ถ้าให้ดีติดตั้งเสร็จลองไปให้อู่อื่นๆ ลองดูก็ได้ จะได้เป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ทำให้แน่ใจว่าไม่ถูกเจ้าของอูหลอก เพราะจะช่วยท่านได้มากในยามที่เกิดอุบัติเหตุ จำไว้ชีวิตมีค่าที่สุด จงอย่าเอาชีวิตไปเสี่ยงกับทรัพย์สินโดยไม่จำเป็น

« ย้อนกลับ


คลังความรู้