FPT ลากท่อน้ำมันเส้นใหม่ 7 พันล้าน

โครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปภาคเหนือของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกระทรวงพลังงานเมื่อปลายปี 2558เพื่อขยายท่อขนส่งน้ำมันต่อจากเดิมที่คลังน้ำมันบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปยังคลังน้ำมันพิจิตรและคลังน้ำมันนครลำปางระยะทาง 569 กิโลเมตร ด้วยเงินลงทุน 7,500 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างได้เริ่มมาตั้งแต่ปลายไตรมาสสามปี 2559 ขณะนี้ความคืบหน้ายังเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ภาคเอกชนเป็นผู้พัฒนา โดยบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อมากว่า 25 ปี จึงได้รับมอบจากกระทรวงพลังงานให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ ระยะทาง 569 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ต่อขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันเดิมที่คลังน้ำมันบางปะอินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านสถานีเพิ่มแรงดันกำแพงเพชรไปยังคลังน้ำมันพิจิตร อ.วชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ระยะทาง 367 กิโลเมตร ลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท และระยะที่ 2 วางท่อจากสถานีเพิ่มแรงดันกำแพงเพชรถึงคลังน้ำมันนครลำปาง อ.สบปราบ จ.ลำปาง ใช้เงินลงทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท ระยะทาง 202 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการขนส่งน้ำมันเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2562
หม่อมราชวงศ์ ศุภดิศ ดิศกุล ประธานกรรมการบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ ได้กล่าวไว้ว่า โครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปภาคเหนือ จะช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านการสำรองพลังงานของประเทศ ประชาชนจะมีน้ำมันใช้ไม่ขาดแคลนในยามฉุกเฉิน รวมทั้งให้ผลตอบแทนด้านสังคมสูงมาก ช่วยลดอุบัติเหตุจากการขนส่งน้ำมันทางรถยนต์ พื้นที่ภาคเหนือมีโอกาสใช้น้ำมันในราคาที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ อีกทั้งยังลดภาวะโลกร้อนโดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นเงิน 3,400 ล้านบาท โดยได้รับชำระเงินเพิ่มทุนจดทะเบียนจากผู้ถือหุ้นเต็มจำนวนแล้ว และได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 4,600 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายใช้ในโครงการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือได้ทันที และล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานายเจริญ จารุไสลพงษ์ กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยคณะฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ได้ไปตรวจรับท่อน้ำมันจาก WELSPUN - GMS Consortium โดยมี Mr.Bhavesh Jayant Karia Vice President, Sale & Marketing และนายสมเกียรติ ไชยศรีรัตนากูล กรรมการ ให้การต้อนรับ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง
ระบบขนส่งน้ำมัน (Pipeline Transportation System)
จากจุดเริ่มต้นของการขนส่งน้ำมันแบบผลิตภัณฑ์รวม (Multi-Products) แห่งแรกในประเทศไทย บริษัทสามารถขนส่งน้ำมันได้หลายชนิดในท่อเดียวกัน มีจุดรับน้ำมันเข้าระบบท่อจาก 3 แหล่ง คือ
•โรงกลั่นน้ำมันบริษัท บางจากปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) ที่บางจาก
•คลังน้ำมันบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ที่ช่องนนทรี
•คลังน้ำมันบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ที่ช่องนนทรี
ปริมาณน้ำมันจากทั้ง 3 แหล่ง จะถูกจัดส่งผ่านท่อใต้ดินขนานทางรถไฟมายังสถานีสูบถ่ายบริเวณช่องนนทรีและถูกจัดส่งด้วยเครื่องสูบถ่ายความดันสูงมายังสถานีควบคุมมักกะสัน เพื่อส่งไปยังปลายทาง ประกอบด้วยคลังน้ำมันอากาศยานที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงคลังน้ำมันภาคพื้นดินที่คลังน้ำมันบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีความยาวแนวท่อ 69 กิโลเมตร
สำหรับการขนส่งน้ำมันอากาศยานไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะขนส่งผ่านระบบท่อ ที่ต่อเชื่อมกับ ระบบท่อหลักที่สถานีควบคุมมักกะสัน โดยมีความยาวแนวท่อ 32 กิโลเมตร ด้วยระบบท่อขนส่งน้ำมันที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล จึงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นระบบขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ได้น้ำมันที่มีคุณภาพ สะอาด บริสุทธิ์ และมีการสูญเสียน้ำมันจากการขนส่งน้อยที่สุด
แนวท่อขนส่งน้ำมัน (Pipeline Route) ระบบควบคุมการขนส่งที่ทันสมัย (Modern Transportation Control System)
ด้วยการควบคุมกระบวนการทำงานจากระบบคอมพิวเตอร์ Supervisory Control and Data Acquistion System (SCADA) อันทันสมัย ได้มาตรฐานสากล และเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจึงถูกนำมาใช้ ทำให้ระบบขนส่งสามารถควบคุมปริมาณและตรวจสอบชนิดของน้ำมันที่ผ่านระบบท่อได้ตลอดเส้นทางอีกทั้งยังสามารถตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำมัน การแจ้งสัญญาณฉุกเฉิน บังคับการเปิดปิดวาล์ว และอุปกรณ์ภายใน ระบบท่อโดยอัตโนมัติ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ยังสามารถควบคุมการเปิด-ปิดของถังน้ำมันทั้งต้นทาง และปลายทาง โดยมีศูนย์กลางห้องควบคุมอยู่ที่สำนักงานใหญ่ดอนเมือง
ความปลอดภัยของแนวท่อ (Security of Pipeline)
การขนส่งน้ำมันผ่านระบบท่อเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่า เป็นระบบการขนส่งน้ำมันที่มีความปลอดภัยสูงสุด ลดการสูญเสีย และไม่มีผลกระทบต่อชุมชน ไม่มีเสียงรบกวนขณะจัดส่ง และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ท่อขนส่งน้ำมันของบริษัทเป็นท่อฝังอยู่ใต้ดินลึกประมาณ 1.50 เมตรขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 นิ้ว มีความหนาเฉลี่ย 8 มิลลิเมตร เคลือบสารป้องกันสนิมทั้งภายนอกและภายในขณะก่อสร้างวางท่อหลังจากที่มีการเชื่อมท่อต่อกันแล้วจะมีการตรวจสอบแนวเชื่อมทั้งหมดด้วยการ X-RAY แล้วจึงพันเทปแนวเชื่อม
เพื่อป้องกันสนิมอีกครั้งก่อนที่จะวางลงไปใต้ดิน เมื่อวางฝังท่อลงไปใต้ดินแล้วยังมีเทปสีเหลืองวางเหนือท่อประมาณ 25 เซนติเมตร รวมถึงมีการติดตั้งระบบป้องกันการสึกกร่อนด้วยระบบ Cathodic Protection และมีป้ายแสดงแนวท่อ (Marker Post) ตลอดเส้นทาง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในระหว่างการขนส่งน้ำมัน บริษัทมีอุปกรณ์ที่สามารถตรวจสอบสภาพภายในท่อเรียกว่า PIG (Pipeline Inspection Gauge) เป็นเครื่องมือที่วิ่งอยู่ภายในท่อและทำการบันทึกสภาพภายในท่ออย่างละเอียด ดั้งนั้น ในกรณีที่จุดใดจุดหนึ่งของท่อเริ่มสึกกร่อนก็สามารถตรวจสอบพบและทำการแก้ไขได้ก่อนที่จะมีการรั่วซึม
นอกจากนี้บริษัทยังมีเจ้าหน้าที่หน่วยตรวจแนวท่อ (Patrol Line) ได้ออกทำการตรวจสอบแนวท่อเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันความเสียหายซึ่งอาจเกิดจากการขุดเจาะ รื้อ ก่อสร้างทำการเหนือแนวท่อขนส่งน้ำมัน
บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด มีความมุ่งมั่นและตระหนักถึงความสำคัญในการให้บริการขนส่งน้ำมันผ่านระบบท่อและคลังน้ำมันของบริษัท ไม่เพียงแต่การมีเป้าหมายที่มุ่งสู่การให้บริการต่อลูกค้าโดยไม่เกิดอุบัติเหตุเท่านั้น บริษัทยังตระหนักถึงบทบาทหน้าที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านการขนส่งพลังงานของประเทศ ดังนั้นการให้บริการขนส่งน้ำมันผ่านระบบท่อและคลังน้ำมันจึงมีระบบความปลอดภัยสูงสุดดังนี้ระบบการตรวจสอบการรั่วไหลของท่อด้วยระบบ SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) การตรวจสอบสภาพภายในท่อขนส่งด้วย Intelligent PIG ระบบการป้องกันการผุกร่อนของท่อ (Cathodic Protection) ติดป้ายเตือนเหนือแนวท่อขนส่งตลอดแนวท่อเพื่อป้องกันการบุกรุกระยะห่างทุก 250 เมตรและเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นทางแยกหรือซอยที่สำคัญ มีทีมตรวจสอบการบุกรุกตลอดแนวท่อขนส่งน้ำมันทุกวัน มีระบบวาล์ว ที่สามารถปิดการทำงานตัวเองทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทุกกรณี มีระบบ Block Valve ที่ปิดกั้นเป็นระยะในจุดที่สำคัญตลอดแนวท่อ

